วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2559

ความเป็นมาและวิวัฒนาการภาษาบาลี


ความเป็นมาและวิวัฒนาการภาษาบาลี

พระมหาสนอง ปจฺโจปการี 

วัตถุประสงค์การเรียน
เมื่อศึกษาบทนี้แล้ว ผู้ศึกษาสามารถ
๑.อธิบายความหมายของคำว่าภาษาบาลีได้อย่างถูกต้อง
๒.อธิบายแหล่งกำเนิดภาษาบาลีได้
๓.อธิบายวิวัฒนาการของภาษาบาลีได้
๔.อธิบายความสำคัญของภาษาบาลี
๕.อธิบายประโยชน์ของภาษาบาลีได้

ภาษาบาลี ใช้ถ่ายทอดเผยแผ่และบันทึกพุทธพจน์เรื่อยมา จนกลายเป็นภาษาที่ใช้เป็นหลัก ในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีพระไตรปิฎกเป็นต้น ในการเขียนภาษาบาลีไม่มีอักษรชนิดใด สำหรับใช้เขียนโดยเฉพาะสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นอักษรมาคธี แต่สามารถประยุกต์ใช้กับภาษาของประเทศนั้น ๆ ที่พระพุทธศาสนาเผยแผ่ถึง เช่น พระพุทธศาสนาเผยแผ่ถึงประเทศไทย ก็ใช้อักษรไทย เป็นต้น
ภาษาบาลี มีพัฒนาการที่ยาวนาน และมีแหล่งกำเนิดในประเทศอินเดีย สามารถแบ่งวิวัฒนาการการแต่งได้ ๔ ยุคคือ ยุคคาถา ยุคร้อยแก้ว ยุคร้อยกรองระยะหลัง และยุคร้อยกรองประดิษฐ์
ภาษาบาลี มีความสำคัญในฐานะเป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าทรงเลือกใช้เทศนาโปรดเวไนยสัตว์ เพื่อให้บรรลุมรรคผลและนิพพาน
ประโยชน์ที่ได้รับจากการศึกษาภาษาบาลี จะช่วยให้ผู้เรียนใช้ภาษาบาลีและภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง

๑.๑ ความหมายของคำว่าบาลี
คำว่า “บาลี” ที่ใช้ในภาษาไทย ตรงกับภาษาบาลีคำว่า “ปาลี” (อักษรโรมัน: Pali) “ปาลี" สำเร็จรูปมาจากศัพท์ว่า “ปาล” ธาตุ แปลว่า “รักษา” ลง ณี ปัจจัยในนามกิตก์ ปัจจัยที่เนื่องด้วย ณ ให้ลบ ณ ทิ้งเสีย เมื่อประกอบกันจึงมีรูปเป็น "ปาลี หรือคำไทย เรียกว่า บาลี" หมายถึง ภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์เอาไว้ ซึ่งมีรูปวิเคราะห์ว่า “พุทฺธวจนํ ปาเลตีติ ปาลี” แปลว่า “ภาษาใด ย่อมรักษาไว้ ซึ่งพระพุทธพจน์ เหตุนั้น ภาษานั้นชื่อว่า ปาลี ๆ แปลว่า ภาษาที่รักษาไว้ซึ่งพระพุทธพจน์”
คำว่า "บาลี" ได้มีนักปราชญ์หลายท่านให้ความหมายไว้ดังนี้
๑. คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา กล่าวว่า ปาลี มาจาก ปา ธาตุ แปลว่า รักษา, ลง ฬิ ปัจจัย จึงมีรูปเป็น “ปาฬิ” ดังปรากฎหลักฐานว่า...ปา รกฺขเณ ฬิ. ปาติ รกฺขตีติ ปาฬิ (ปาลิ) ชื่อว่า ปาฬิ เพราะอรรถว่า คุ้มครอง, รักษา นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานเพิ่มเติมอีก
ปาฬิสทฺโท ปาฬิธมฺเม ตาฬกาปาฬิยมฺปิ จ
ทิสฺสเต ปนฺติยญฺเจว อิติ เญยฺยํ วิชานตา.
ในคาถานี้ คำว่า “ปาฬิธมฺเม” หมายถึง ปริยัติธรรม 
คำว่า “ตาฬกาปาฬิยมฺปิ” หมายถึง ขอบสระ
บาลี หมายถึง “ปริยัติธรรม” ดังตัวอย่าง
ปาฬิยา อตฺถํ อุปปริกฺขนฺติ (ย่อมพิจารณา เนื้อความแห่งบาฬี)
บาลี หมายถึง “ขอบสระ” ดังตัวอย่าง
มหโต ตฬากสฺส ปาฬิ. (ขอบแห่งสระใหญ่)
บาลี หมายถึง “แถว, แนว” ดังตัวอย่าง
ปาฬิยา นิสีทึสุ. (พวกเขา นั่งเรียงแถว)
๒.พระพุทธโฆสาจารย์ ได้ให้คำจำกัดความ ไว้ว่า บาลี หมายถึง พระพุทธธรรม คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดที่รวมไว้ในพระไตร ปิฎก หรือ บาลี หมายถึง ภาษาของพระไตรปิฎก ดังหลักฐานว่า ...ตํ ปน อตฺตโน มตึ คเหตฺวา กเถนฺเต น ทฬฺคคาหํ คเหตฺวา โวหริตพฺพํ การณํ สลฺลกฺเขตฺวา อตฺเถน ปาลึ ปาลิยา จ อตฺถํ สํสนฺเทตฺวา กเถตพฺพํ... อันนักศึกษา เมื่อจะยึดความเห็นส่วนตนมากล่าวอ้างไม่ควรจะกล่าวอ้างอย่างเชื่อมั่นเกินไป ควรจะหนดเหตุ เทียบเคียงเนื้อพระไตรปิฎกเสียก่อนแล้วจึงกล่าวอ้าง
๓. คัมภีร์ธาตวัตถสังคหปาฐนิสสยะ กล่าวว่า ปาฬิ หมายถึง ภาษาที่รักษาเนื้อความเอาไว้ มาจากรากศัพท์ว่า ปาล แปลว่า “รักษา” ซึ่งมาจากรูปวิเคราะห์ว่า “อตฺถํ ปาเลตีติ ปาลี” แปลว่า “ ภาษาใด ย่อมรักษา ซึ่งเนื้อความ เพราะเหตุนั้น ภาษานั้น ชื่อว่า บาลี ”
๔. ปทานุกรมสันสกฤต-อังกฤษ ของ เซอร์มอเนียร์ วิลเลียมส์ ไม่มีรูป “ปาฬิ” มีแต่รูป “ปาลิ” โดยให้ความหมายหลายนัย พอสรุปได้ดังนี้.-
๔.๑ ขอบหู, ใบหู , ริม, ขอบ
๔.๒ แถว, แนว, สาย, คู, สะพาน, หม้อหุงต้ม
๔.๓ มาตราตวง เท่ากับ ๑ ปรัสถะ (บาลีเป็น ปัตถะ)
๕.ปทานุกรมบาลี – อังกฤษของสมาคมบาลีปกรณ์ แสดงศัพท์ไว้ทั้ง ๒ รูปคือ ปาลิ และปาฬิ ทั้งสองคำนี้ มิได้หมายถึง ภาษา แต่หมายถึง พระพุทธวจนะ หรือ เนื้อความดั้งเดิมในพระไตรปิฎก ซึ่งให้ความหมายบาลีไว้ ๒ นัย คือ.-
๕.๑ แถว, แนว เช่น ทันตปาลิ (แถวแห่งฟัน)
๕.๒ ธรรม, ปริยัติธรรม ตำราธรรมของพระพุทธศาสนาที่เป็นหลักดั้งเดิม 
๖.ส่วนพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายว่า “บาลี” คือ ภาษาที่ใช้เป็นหลักในพระพุทธศาสนาแต่เดิมมา, พระพุทธพจน์

๑.๒แหล่งกำเนิดของภาษาบาลี 

พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้นในประเทศอินเดีย ท่ามกลางเจ้าลัทธิทั้งหลาย ในสมัยนั้น ภาษาที่ประชาชนใช้เป็นสื่อในการสื่อสารในสมัยนั้นก็มีมาก พระองค์ทรงเลือกภาษาที่ประชาชนส่วนมากใช้ในการประกาศพระพุทธศาสนา มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า พระพุทธเจ้าทรงใช้ภาษาอะไรกันแน่ในการประกาศพระพุทธศาสนา ในหมู่ชาวพุทธบางส่วนให้ทัศนะว่าภาษาบาลีมีถิ่นกำเนิดจากแคว้นมคธ ในชมพูทวีป (ประเทศอินเดีย) และเรียกว่า “ภาษามคธ” (มาคธี) มีนักภาษาศาสตร์บางท่านมีความเห็นว่า ภาษาบาลี (มาคธี) เป็นภาษาทางภาคใต้ของอินเดีย บางท่านเห็นว่า เป็นภาษาทางตะวันตกของอินเดีย และเป็นคนละภาษากับภาษาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช ผู้เขียนจึงได้นำทัศนะของนักปราชญ์บางท่านที่กล่าวถึงแหล่งกำเนิดของภาษาบาล ีไว้ดังนี้
Sten Konow Grierson and Nalinaksha Dutt เชื่อว่า ถิ่นกำเนิดของภาษาบาลี คือบริเวณเทือกเขาวินธัย โดยให้เหตุผลว่า ภาษาไปศาจี, ปรากฤต มีความสัมพันธ์กับภาษาบาลีอย่างใกล้ชิดและมีรากฐานมาอย่างเดียวกัน ภาษาไปศาจีมีถิ่นกำเนิดที่บริเวณใกล้เทือกเขาวินธัย กรีสันกล่าวว่า “โดยหลักฐานแล้ว ภาษาบาลีเป็นภาษาพูดของชาวมคธ ภาษาบาลี ได้แพร่หลายไปยังเมืองตักกสิลาในแถบตะวันตกเฉียงเหนือ อันเป็นถิ่นกำเนิดของภาษาไปศาจี โดยลักษณะนี้ คำพูดทางตะวันออกที่แพร่หลายไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ได้ทิ้งลักษณะคำพูดที่สำคัญๆ ของภาษาตะวันออกไว้ด้วย และในขณะเดียวกันก็รับลักษณะที่ดีเป็นจำนวนมากของภาษาถิ่นตะวันตกเฉียงเหนือ 
B.M. Barua กล่าวว่า หลักฐานที่เป็นภาษาถิ่นสำคัญของภาษาบาลีนั้น อาจมีรูปคำมาจากถ้อยคำในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช เขาได้เปรียบเทียบพระพุทธวจนะกับอโศกวจนะว่า มีความคล้ายคลึงกันมากทีเดียว
Sylvain Lewy and Herma Luder ได้ให้ข้อสังเกตว่า พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีปัจจุบัน ได้ให้ข้อชี้แแจงที่ดีเป็นจำนวนมากว่า มีรากฐานมาจากพระไตรปิฎกฉบับเก่าแก่ที่แต่งเป็นภาษาถิ่นตะวันออก ดังนั้น พระไตรปิฎกฉบับแรกนั้น แต่งด้วยภาษาอรรธมาคธี ภาษาปรากฤตเก่าแก่ทางตะวันออก
T.W. Rhys Davids กล่าวว่า ภาษาบาลีมีรากฐานมาจากภาษาของชาวโกศล โดยให้เหตุผลว่า สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าอยู่ที่แคว้นโกศล พระพุทธวจนะได้เกี่ยวข้องกันกับ ๒ อาณาจักร คือ อาณาจักรโกศลและอาณาจักรมคธในอินเดียตอนเหนือ ศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาอยู่ที่ ๒ อาณาจักรนี้ ยิ่งไปกว่านั้น กรุงกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงของแคว้นสักกะ อันเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า อยู่ในแคว้นโกศลเหมือนกันโดยธรรมชาติ ภาษาแม่ของพระพุทธเจ้าก็คือภาษาของชาวโกศล ดังนั้น พระพุทธเจ้าอาจทรงแสดงธรรมของพระองค์ด้วยภาษาหนึ่งที่พูดกันในแคว้นโกศลและแ คว้นมคธ เช่นเดียวกับภาษาฮินดูที่ใช้พูดกันในรัฐอุตรประเทศและรัฐพิหารในปัจจุบัน
ที่กล่าวมาข้างต้น พอสรุปได้ว่า แหล่งกำเนิดของภาษาบาลีอยู่ที่บริเวณเทือกเขาวินธัย แคว้นมคธและแคว้นโกศลซึ่งเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประสูติ

๑.๓ ความเป็นมาและวิวัฒนาการของภาษาบาลี 

ตามประวัติศาสตร์อินเดีย ได้กล่าวว่า ประมาณ ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช ได้มีชนชาติหนึ่งเรียกว่า "อารยัน" ซึ่งถือว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวอินเดีย มีภูมิลำเนาอยู่ในบริเวณทะเลสาบแคสเบียน (เอเชียกลาง) ชาวอารยันได้ย้ายถิ่นฐานไปทางยุโรปพวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่งได้ย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ในดินแดนเหนือลุ่มแม่น้ำสินธุในอินเดี ย เมื่อชาวอารยันเข้ามาได้ทำการต่อสู้กับชาวพื้นเมืองคือ พวกดราวิเดียน (Dravidians) หรือ มิลักขะ ลงไปทางใต้ เมื่อชาวอารยันเหล่านี้เข้ามาได้นำเอาภาษาและวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ของตนเข้ามาด้วยสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ชาวอารยันนำเข้ามา คือ "ภาษาเฟนิเซีย" ซึ่งมีแหล่งกำเนิดมาจากประเทศ เฟนิเซียริมฝั่งแม่น้ำเมดิเตอเรเนียน 
แม้ว่าภาษาของดราวิเดียน (ภาษาทมิฬ) จะปะปนกับภาษาอารยันไปตามกาลสมัยไปบ้าง แต่ภาษาอารยันก็ยังคงรักษารูปเดิมไว้ได้ ภาษาที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระเวทซึ่งเรียกว่า ไวทิกภาษา (Vedic language) เป็นเครื่องมือสื่อสารติดต่อกัน ภาษาในรูปเดิมของชาวอารยันมีรากมาจากภาษาตระกูลอินเดีย-ยุโรป ซึ่งเป็นตระกูลหนึ่งของภาษาที่มีวิภัติ ปัจจัย ภาษาอารยันในสมัยแรกนั้นได้กลายเป็นแม่ของภาษาต่างๆ ในอินเดีย เช่น ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาฮินดี ภาษาเบงกาลี เป็นต้น (อารีย์ สหชาติโกสีย์, ๒๕๑๗ : ๑)
อักษรเฟนิเซีย (Phoenicia) ที่ชาวอารยันนำเข้ามาในอินเดียสมัยแรกเรียกชื่อใหม่ว่า “อักษรพราหมี” มีลักษณะเป็นเส้นตรงกลมและเหลี่ยม เพราะอินเดียเป็นประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก ชาวอารยันที่อยู่ในถิ่นต่างๆ ได้ดัดแปลงอักษรพราหมีนั้นไปใช้ในถิ่นของตน อักษรที่ดัดแปลงไปใช้ในอินเดียฝ่ายเหนือ เรียกว่า “อักษรเทวนาครี” มีลักษณะเป็นเส้นตรงเหลี่ยม ส่วนอักษรที่ดัดแปลงไปใช้ที่อินเดียฝ่ายใต้ เรียกว่า “อักษรครนถ์” มีลักษณะกลมและหนามเตย
ลักษณะการอพยพของชาวอารยันเป็นไปอย่างช้าๆ กินระยะเวลายาวนานถึงพันปี จึงสามารถตั้งหลักแหล่งได้มั่นคงในอินเดีย เอกลักษณ์ของอารยันคือมีภาษาของตนเอง และนับถือเทพเจ้า ทำให้เทพเจ้าของอารยันเพิ่มจำนวนมากขึ้น และเพื่อให้เทพเจ้าเหล่านั้นโปรดปรานดลบันดาลให้ตนเองปลอดภัย จึงได้แต่งบทสวดมนต์อ้อนวอนสดุดีเทพเจ้าขึ้น เป็นบทร้อยกรองชนิดหนึ่งเรียกว่า “โศลก” การจดจำบทสวดนี้สืบๆ กันมาโดยวิธีการท่องจำ เรียกว่า “มุขปาฐะ” (การท่องจำด้วยปากเปล่า) และคำนี้ยังมีอิทธิพลต่อพระเถระในทางพระพุทธศาสนา ที่ใช้เป็นรูปแบบการท่องจำพระพุทธพจน์ในเวลาต่อมา
หลังจากชาวอารยันอินเดีย ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานมั่นคงอยู่ในอินเดียแล้วก็ได้พัฒนาภาษาของตนเองตามลำดั บ นักนิรุกติศาสตร์ได้แบ่งภาษาอารยันอินเดียเป็น ๓ สมัย คือ 
๑.ภาษาอารยันอินเดียสมัยเก่า (Old Indian Language) หมายถึงภาษาที่ใช้ในคัมภีร์พระเวท ได้แก่ คัมภีร์พระเวท ยชุรเวท สามเวท และอถรรพเวท รวมทั้งคัมภีร์อุปนิษัท ซึ่งเป็นคัมภีร์สุดท้ายของคัมภีร์พระเวท
๒.ภาษาอารยันอินเดียสมัยกลาง (Middle Indian Language) หมายถึง ภาษาปรากฤต หรือ ภาษาพื้นเมืองของชาวอารยันในอินเดียสมัยกลาง ๕ สาขา ได้แก่
๒.๑ มหาราษฎรี ภาษาของชาวมหาราษฎร์
๒.๒ เศารเสนี ภาษาของชาวสุรเสน
๒.๓ มาคธี ภาษาของชาวมคธ
๒.๔ ปราจยา ภาษาของชาวตะวันออก
๒.๕ อวันตี ภาษาของชาวอวันตี
๓. ภาษาอารยันอินเดียสมัยใหม่ (Modern Indian Language) หมายถึง ภาษาต่างๆ ในปัจจุบัน เช่น ทางตะวันออก มีภาษาเบงคาลี พิหารี โอถยา เนปาลี ทางตะวันตก และตอนเหนือมีภาษาสนธี ปัญจารี กัสมีรี คุชราฐี และฮินดี ทางใต้มี ภาษามราฏี เป็นต้น 
สำหรับ ภาษาบาลี มีวิวัฒนาการมายาวนาน มีการใช้ภาษาบาลีเพื่อบันทึกคัมภีร์ในพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นจำนวนมาก Wilhem Geiger นักปราชญ์บาลีชาวเยอรมัน ได้เขียนหนังสือในสมัยศตวรรษที่ ๑๙ คือ Pali Literatur โดยแบ่งวิวัฒนาการรูปลักษณะของภาษาบาลีไว้ ๔ ยุคคือ 
๓.๑ ยุคคาถา (Gatha Language) บาลีที่ใช้ในยุคนี้ ได้แก่ ภาษาที่ท่านประพันธ์เป็นคาภา หรือร้อยกรอง คำศัพท์มีลักษณะเหมือนภาษาอินเดียโบราณ เพราะการใช้คำยังเกี่ยวข้องกับภาษาไวทิกะที่ใช้บันทึกคัมภีร์พระเวท
๓.๒ ยุคร้อยแก้ว (Prose Language) ได้แก่ภาษาร้อยแก้ว ที่มีในพระไตรปิฎกดังที่ทราบกันแล้วว่า พระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า ส่วนมากเป็นประเภทร้อยกรองและคติพจน์สั้นๆ ซึ่งเป็นลักษณะของร้อยกรอง นักปราชญ์ส่วนมากมีความเห็นว่า บทร้อยแก้วในพระไตรปิฎกนั้นเติมเข้ามาในภายหลัง เพราะรูปแบบเป็นภาษาอินโดอารยันสมัยกลาง แตกต่างจากสันสกฤตแบบพระเวทอย่างสิ้นเชิง ด้วยเหตุนี้ ภาษาในพระไตรปิฎกจึงเขียนในยุคนี้
๓.๓ ยุคร้อยแก้วระยะหลัง (Post-canonical Prose Language) หรือ เรียกชื่ออีกอย่างว่า “ร้อยแก้วรุ่นอรรถกถา” ได้แก่ บทร้อยแก้วที่แต่งขึ้นทีหลัง โดยพระอรรถกถาจารย์ต่างๆ นับว่าเป็นช่วงระยะเวลาหลังพระไตรปิฎก ราวศตวรรษที่ ๕ เป็นต้นไป ดังตัวอย่างในคัมภีร์ เนตติปกรณ์ มิลินทปัญหา วิมุตติมรรค และวิสุทธิมรรค เป็นต้น
๓.๔ ยุคร้อยกรองประดิษฐ์ (Artificial Poetry) ภาษาที่ใช้ในยุคนี้เป็นการผสม ผสานระห่วงภาษาเก่าและภาษาใหม่ กล่าวคือคนแต่งสร้างคำใหม่ๆ ขึ้นใช้เพื่อให้ไพเราะดูและสวยงามและเหมาะสมกับการเวลาในช่วงนั้นๆ
เป็นธรรมดาของภาษาที่มีวิวัฒนาการไปตามกาลเวลา ทำให้ภาษามีการเปลี่ยนแปลง ภาษาบาลีก็เป็นเช่นเดียวกัน สาเหตุที่ภาษามาคธีกลายชื่อเป็น “ภาษาบาลี” ฉลาด บุญลอย ได้ให้ทัศนะไว้ดังนี้
๑.เนื่องด้วยหลักภาษาและถ้อยคำสำนวนของวัฒนธรรมบาลี ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นภาษามาคธีหรือภาษาของชาวมคธสมัยพุทธกาลทรงพระชนม์อยู่นั ้น มีส่วนแตก ต่างจากภาษามาคธีที่ใช้พูดกันในปัจจุบัน เพราะระยะที่ผ่านมานานถึง ๒,๕๐๐ ปีเศษ ทำให้ภาษามาคธีที่ใช้ในวัฒนธรรมบาลีกลายเป็นภาษาโบราณไปด้วยเหตุนี้แหละ การจะถือว่าบาลีใช้ภาษามาคธีก็ไม่ถนัดนัก จึงเรียกเสียใหม่ว่า “ภาษาบาลี” เพื่อตัดปัญหายุ่งยากในการที่จะนำไปเปรียบเทียบกับภาษามาคธีสมัยใหม่
๒.เนื่องด้วยพระพุทธเจ้าเมื่อทรงใช้ภาษาสุทธมาคธีเป็นหลัก ในการประกาศ พระพุทธศาสนาของพระองค์ให้เข้าถึงชนทุกชั้นวรรณะ ได้ทรงปรับปรุงแก้ไขภาษาสุทธมาคธี ซึ่งชั้นเดิมเป็นภาษาปรากฤตให้ดีขึ้นเมื่อเป็นภาษามาคธีเป็นภาษาที่ดีและไพเ ราะขึ้นโดยอานุภาพของพระพุทธเจ้าแล้ว ภาษามาคธีก็มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “บาลี” ซึ่งแปลว่า “แบบแผน”
๓.พระพุทธเจ้าทรงใช้ภาษามคธเป็นสื่อในการประกาศศาสนาของพระองค์ และทรงปรับปรุงภาษามคธให้ดีขึ้น เพื่อให้ชนทุกชั้นวรรณะเข้าใจ เมื่อภาษามคธเป็นภาษาที่ดีและไพเราะด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้า ภาษามคธที่ใช้จารึกตำราทางพระ พุทธศาสนา จึงมีชื่อเรียกว่า "ภาษาบาลี" 
๔.คำว่า "บาลี" นี้ คนส่วนมากทั้งคนไทยและต่างประเทศเข้าใจกันว่า บาลีเป็นชื่อของภาษา และเรียกว่า ภาษาบาลี แม้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานก็ได้ให้ความหมายของคำว่า บาลี ไว้สองนัยคือ พุทธพจน์ และภาษาที่ใช้เป็นหลักในพระพุทธศาสนาแต่เดิมมา
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ภาษาบาลีมีการศึกษาอย่างกว้างขวางในประเทศที่นับถือพระพุทธศาส นาเถรวาท เช่น ไทย พม่า เป็นต้น แม้กระทั่งในต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษก็มีผู้สนใจในพระพุทธศาสนา โดยการจัดตั้งสมาคมบาลีปกรณ์ (Pali Text Society) ขึ้นในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๔
เฉพาะในประเทศไทย ได้มีการศึกษาภาษาบาลีมาช้านานแล้ว โดยเปิดสอนตั้งแต่ระดับไวยากรณ์ถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค และเปิดสอนในมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง รวมทั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั่วประเทศด้วย

๑.๔ ความสำคัญของภาษาบาลี

ภาษาบาลี แต่เดิมเรียกว่า “ภาษามาคธี” แปลว่า “ภาษาของชาวแคว้นมคธ” ที่ชาวอารยัน (อริยกะ) เข้ามาตั้งถิ่นฐานในชมพูทวีป วัฒนธรรมของชาวอารยัน มามีอิทธิพลต่อชนชาวพื้นเมืองคือพวกมิลักขะสิ่งที่มีอิทธิ พลและบทบาทต่อชนพื้นเมืองมากก็ คือ ภาษา เพราะภาษาถือว่าเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่มนุษย์ใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อ สารซึ่งกันและกัน ภาษาบาลีจึงมีความสำคัญในฐานะเป็นภาษาที่ พระพุทธเจ้าทรงเลือกใช้เทศนาโปรดเวไนยสัตว์ให้ได้บรรลุมรรคผลและนิพพาน และเป็นภาษาที่พระอรหันต์ทั้งหลายมีพระมหากัสสปะ เป็นต้นใช้ทรงจำเพื่อถ่ายทอดพระพุทธพจน์ คือพระไตรปิฎก
เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในประเทศอินเดีย ท่ามกลางเจ้าลัทธิทั้งหลาย ในสมัยนั้น หลังจากที่พระองค์ตรัสรู้แล้วทรงประกาศพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย ด้วยภาษามาคธี ด้วยเหตุนี้ ภาษามาคธีจึงได้รับเกียรติและได้รับการยกย่องว่า...
๑.เป็นภาษาอันเป็นโวหารของพระพุทธเจ้า (สัมพุทธโวหารภาสา)
๒.เป็นภาษาอันเป็นโวหารของพระอริยเจ้า (อริยโวหารภาสา)
๓.เป็นภาษาที่ใช้บันทึกสภาวธรรม (ยถาภุจจพรหมโวหารภาสา)
๔.เป็นภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์ (ปาลีภาสา)
นอกจากนี้ นักไวยากรณ์บาลีได้กล่าวถึงความสำคัญภาษาบาลีไว้ดังนี้
๑.มูลภาสา คือภาษาหลักหรือภาษาดั้งเดิมของเสฏฐบุคคล ๔ จำพวกคือ อาทิกัปปิยบุคคล พรหม อัสสุตาลาปบุคคล และ พระสัมพุทธเจ้า ดังปรากฏหลักฐานว่า...
สา มาคธี มูลภาสา นรา ยายาทิกปฺปิกา
พฺรหฺมาโน จสฺสุตาลาปา สมฺพุทฺธา จาปิ ภาสเร. 
ภาษามาคธี (บาลี) เป็นภาษาแรกพูดกันมาตั้งแต่ปฐมกัลป์
โดยหมู่มนุษย์ พรหม แม้ผู้ที่ไม่เคยสดับคำพูดของมนุษย์ชาติ
และพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย 
๒.ตันติภาสา คือภาษาที่มีแบบแผน มีกฎไวยากรณ์ดี ดังปรากฏหลักฐานว่า
ตํ ภาสํ อติวิตฺถาร- คตญฺจ วจนกฺกมํ
ปหายาโรปยิตฺวาน ตนฺติ ภาสํ มโนรมํ 
(ข้าพเจ้าพระพุทธโฆสาจารย์) จักละภาษาของชาวสิงหลนั้น
และลำดับแห่งถ้อยคำที่เยิ่นเย้อเกินไปเสีย แล้วยกขึ้นสู่ 
“ตันติภาษา” อันเป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ
๓.สกานิรุตติ คือ ภาษาที่พระพุทธเจ้าตรัสและเป็นภาษาหลักในการประกาศพระพุทธศาสนาดังปรากฏหลัก ฐานว่า 
๓.๑ น ภิกฺขเว พุทฺธวจนํ ฉนฺทโส อาโรเปตพฺพํ โย อาโรเปยฺย 
อาปตฺติ ทุกฺกฎสฺส.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตไม่อนุญาตให้เธอทั้งหลายยกพุทธพจน์ขึ้น
สู่ภาษาสันสกฤต รูปใดทำ รูปนั้นต้องอาบัติทุกกฎ
๓.๒ อนุชานามิ ภิกฺขเว สกาย นิรุตฺติยา พุทฺธวจนํ ปริยาปุณิตุ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตอนุญาตให้เรียนพระพุทธพจน์ด้วย
ภาษาของตน 
๔.อุตตมภาสา คือภาษาชั้นสูง การที่ภาษาบาลีจัดเป็นอุตตมภาสานั้น พระเทพเมธาจารย์ (เช้า ฐิตปญโญ) ได้ให้เหตุผลไว้ดังนี้ 
๔.๑ พระพุทธเจ้า ย่อมทรงแสดงพระพุทธพจน์ด้วยภาษาบาลี
๔.๒ สังคายนาทุกครั้ง พระสังคีติกาจารย์กระทำด้วยภาษาบาลี
๔.๓ การเขียนและการพิมพ์ปริยัติคันถะลงในใบลานก็ดีแผ่นหินก็ดี ท่านเขียนและพิมพ์เป็นภาษาบาลี ส่วนตัวอักษรเป็นของชาตินั้นๆ ได้ เช่น ภาษาบาลีอักษรไทย เป็นต้น
๔.๔ พระสงฆ์ผู้นำศาสนภาระทั้งหลาย ย่อมเล่าเรียนปริยัติคันถะซึ่งเรียบเรียงด้วยภาษาบาลี นับตั้งแต่อยู่ในสามเณรภาวะ
๔.๕ พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนประเทศพุทธศาสนาเถรวาท ย่อมสวดมนต์เป็นภาษาบาลี แม้จะฟังไม่รู้เรื่องก็ไม่มีใครเบื่อหน่ายหรือรังเกียจ

๑.๕ ประโยชน์ของการศึกษาภาษาบาลี 

ภาษาบาลี - สันสกฤต ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับภาษาไทยทั้งในด้านร้อยแก้วและร้อยกรอง ตลอดถึงศัพท์ทางวิชาการต่างๆ วิสันต์ กฎแก้ว (มปป : ๕) ได้สรุปประโยชน์การเรียนภาษาบาลี-สันสกฤตไว้ ๙ ประการดังนี้

๑.ช่วยในการเขียนสะกดการันต์ : คำพ้องเสียงซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต เมื่อผู้ศึกษาได้ทราบความหมายของคำนั้นแล้ว สามารถเขียนสะกดการันต์ได้ถูกต้อง เช่น
บาลี -สันสกฤต ไทยใช้ ความหมาย
กรฺณ กรรณ หู
กณฺณ กัณณ์ หู
กณฺฐ กัณฐ์ คอ
กาญจน กาญจน์ ทอง
กานฺต กานต์ รัก เช่น สูรยกานต์, จันทรกานต์

บาลี -สันสกฤต ไทยใช้ ความหมาย
การณ การณ์ เหตุ, เค้า มูล เช่น รู้เท่าไม่ถึงการณ์
ขณฺฑ ขัณฑ์ ภาค, ตอน, ท่อน, ก้อน, ชิ้น
ขนฺธ ขันธ์ หมู่, กอง, พวก, หมวด, เช่น รูปขันธ์
จณฺฑ จัณฑ์ ดุร้าย, หยาบช้า, เกรี้ยวกราด, ฉุนเฉียว
จนฺทน จันทน์ ชื่อพรรณไม้ชนิดหนึ่งใช้ทำยาไทย
จนฺทฺร จันทร์ ดวงเดือน, ชื่อเทวดาตนหนึ่งในนิยาย
ทณฺฑ ทัณฑ์ โทษที่เนื่องด้วยความผิด
ทนฺธ ทันธ์ ช้าๆ , เกียจคร้าน, โง่เขลา
ทนฺต ทันต์ ฝึกแล้ว, ฟัน เช่น ทันตแพทย์
ปณฺฑก บัณเฑาะก์ กะเทย
ปฺรวาต ประพาต พัด, กระพือ
ปฺรวาส ประพาส ไปต่างถิ่น หรือ ต่างแดน, ไปเที่ยว
ปฺรภาส ประภาศ แสงสว่าง
ภณฺฑ ภัณฑ์ สิ่งของ, เครื่องใช้
มณฺฑ มณฑ์ ของมันๆ, น้ำเมา, สุรา
มนฺท มนท์ ดาวพระเสาร์, อ่อนแอ, โง่เขลา, ขี้เกียจ
มณฺฑุก มัณฑุกะ กบ
รตฺน รัตน์ แก้ว,คน สัตว์ หรือ สิ่งของที่ถือว่ามีค่า
วฏฏก วัฏฏกะ นกกระจาบ
วฑฺฒกี วัฒกี ช่างไม้

บาลี -สันสกฤต ไทยใช้ ความหมาย
สณฺฑ สัณฑ์ ชัฎ, ดง, ที่รก, ที่ทึบ, ใช้ สณฑ์ ก็มี
วาณิช วาณิชย์ การค้า
วาณิช วาณิช พ่อค้า
ปณฺณ บรรณ หนังสือ/ ใบไม้
ปญฺหา ปัญหา ปริศนา ปัญหา/ ข้อสงสัย
ปลฺลงฺก บัลลังก์ ที่นั่ง
๒. ช่วยให้เกิดความเข้าใจอย่างซาบซึ้งในการศึกษาวรรณคดี:โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วรรณคดีที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและวรรณคดีไทยประเภทโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน เป็นต้น เพราะคำศัพท์ที่ใช้มีคำภาษาบาลี-สันสกฤตอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น
๒.๑ สมุทรโฆษคำฉันท์
พระศรีสรศาสดา มีพระมหิมานุภาพพ้นตยาคี
ศรี = มิ่ง, สิริมงคล, ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม,
สร = ทิพย์, แกล้วกล้า, รูปศัพท์เดิมเป็น สุร
ศาสดา = ผู้สั่งสอน, ผู้ตั้งลัทธิศาสนา, รูปศัพท์เดิมเป็น ศาสฺตฤ
มหิมานุภาพ = มีอานุภาพมาก รูปศัพท์เดิม ๒ ศัพท์คือ มหิมา+อานุภาว
ตยาคี = นักพรต, นักบวช, รูปศัพท์เดิมเป็น ตฺยาคินฺ
๒.๒ พระปฐมสมโพธิกถา ปริจเฉทที่ ๘
ครั้นถึง ณ วันจาตุททสี สุกกปักข์วิสาขมาสมกฎสังวัจฉรสมัย นางนั้นปรารถนาจะกระทำพลีกรรมแก้บวงสรวงแก่เทพดา ณ นิโครธพฤกษ์ ในเพลารุ่งขึ้นพรุ่งนี้เป็นวิสาขบุณณมีเพ็ญเดือน ๖
จาตุททสีสุกกปักข์ = ขึ้น ๑๔ ค่ำ ประกอบด้วยรูปศัพท์เดิม ๓ ศัพท์ คือ 
จาตุทฺทสี ๑๔ ค่ำ) + สุกฺก (ขาว) + ปกฺข (ฝ่าย)
วิสาขมาส = เดือน ๖
มกฏสังวัจฉร = ปีวอก ประกอบด้วยรูปศัพท์เดิม ๒ ศัพท์คือ มกฺกฎ (ลิง) + สํวจฺฉร (ปี)
สมัย = เวลา คราว รูปศัพท์เดิมเป็น สมย
ปรารถนา = มุ่งหมาย, อยากได้, ต้องการ, รูปศัพท์เดิมเป็น ปฺรารฺถนา
พลีกรรม = การบวงสรวง, เครื่องบวงสรวง, รูปศัพท์เดิม เป็น พลิกรฺมนฺ
เทพยดา = พวกชาวสวรรค์ที่มีตาทิพย์ เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย 
แผลงเป็น เทวดา, 
นิโครธ = ต้นไทร รูปศัพท์เดิมเป็น นิโครธ
พฤกษ์ = ต้นไม้ รูปศัพท์เดิมเป็น วฤกฺษ 
เวสาขบุณณมี = วันเพ็ญเดือน ๖ ประกอบด้วยรูปศัพท์เดิม ๒ ศัพท์ คือ 
วิสาขะ หรือ เวสาขะ เดือน ๖ ปุณณมี ดิถีเพ็ญ วันพระจันทร์
เต็มดวง
๓.ช่วยในการแต่งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ : ทั้งนี้ เพราะว่า คำภาษาบาลี- สันสกฤต สามารถรักษาครุ-ลหุได้ดีและกินความได้มาก ทั้งสามารถนำมาแผลงให้เป็นครุ หรือ ลหุได้อีกด้วย เพื่อรักษาข้อบังคับแห่งกาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ไว้ให้ถูกต้อง หรือ เพื่อความไพเราะในด้านเสียง โดยที่ความหมายมิได้เปลี่ยนแปลงไปจากความหมายเดิม เช่น
๓.๑ อิลราชคำฉันท์ (วสันตดิลกฉันท์)
ผาสุกสนุกนครขัณ- ฑสิมาสุมณฑล
บำเทิงระเริงหทยชน ทิชชาติประชุมชีฯ
สิมา (ขัณฑสิมา) = เขตแดน รูปศัพท์เดิมเป็น สีมา (ขณฺฑสีมา) เป็นคำบาลี 
แต่แผลงเป็น สิมา เพื่อรักษาข้อบังคับของคณะฉันท์
๓.๒ สมุทรโฆษคำฉันท์
บาดแผลก็แลล้นจะประมาณ วิการสิ้นทั้งอินทรีย์
แสนโศกวิโยคทุกขทวี คือจะวอดชิวาวายฯ

ชิวา (ชิวาวาย) = ชีพ (ความเป็นอยู่) ชีวิต รูปศัพท์เดิมเป็น ชีว แผลงเป็น ชิว
ทวี = เพิ่มขึ้น มากขึ้น รูปศัพท์เดิมเป็น ทฺวิ – สอง
๔.ช่วยให้เกิดความเข้าใจในความหมายของศัพท์ธรรมะในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น เช่นคำว่า
จตุราริยสัจ = ประกอบด้วยรูปศัพท์เดิม ๓ ศัพท์คือ จตุร+อริย+สจฺจ
อนันตริยกรรม = ประกอบด้วยรูปศัพท์เดิม ๓ ศัพท์คือ น + อนฺตริย + กรรม
อบายมุข = ประกอบด้วยรูปศัพท์เดิม ๒ ศัพท์คือ อปาย + มุข
สัจธรรม = ประกอบด้วยรูปศัพท์เดิม ๒ ศัพท์คือ สจฺจ + ธรรม
๕. ช่วยในการบัญญัติศัพท์ : เนื่องจากวิทยาการสมัยใหม่แขนงต่างๆ ได้แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทยอย่างไม่ขาดสาย และวิทยาการเหล่านั้นโดยมากเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อแปลออกเป็นภาษาไทยแท้ ๆ ไม่ได้ เรามักจะบัญญัติศัพท์ขึ้นใช้แทน ศัพท์ที่จะบัญญัติขึ้นใช้แทนนั้น เรามักจะใช้คำภาษาบาลี-สันสกฤตมาผูกประสมกันใช้แทนคำศัพท์นั้น ๆ ในภาษา อังกฤษ เช่น
เอกลักษณ์ ใช้แทนภาษาอังกฤษว่า Identity
มโนทัศน์ " Conception
อภิปรัชญา " Metaphysics
วรรณคดีบาลี " Pali-Literature
๖.ช่วยให้ภาษาไทยมีคำใช้มากขึ้น : เนื่องจากภาษาไทยแท้ๆ มีคำจำกัดอยู่ในวงแคบ เช่น คำว่า "พ่อ, แม่" เป็นต้น แต่เมื่อเรารับเอาคำภาษาบาลี-สันสกฤตมาใช้ในภาษาไทย ทำให้เรามีคำใช้มากขึ้น เช่น บิดา มารดา บิดร มารดร บิตุเรศ มาตุเรศ ชนก ชนนี เป็นต้น ทั้งๆ ที่คำเหล่านี้ใช้ในความหมายว่า พ่อ แม่ เหมือนกัน หรือ คำว่า "หญิง" เราอาจจะใช้คำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตว่า กุลสตรี กานดา พธู วธู นารี วนิดา ลลนา ยุวดี สตรี อิตถี วาโมรุ ดังนี้เป็นต้น

๗.นำมาใช้ประสมกับคำไทย : กล่าวคือ นำเอาคำบาลีสันสกฤตมาประสมกับคำไทย โดยประกอบข้างหน้าหรือหลังคำไทยก็ได้ เช่น
๑.ใช้ประกอบข้างหน้าคำไทย ตัวอย่างเช่น
บาลี -สันสกฤต คำไทย ไทยใช้ ความหมาย
พล เมือง พลเมือง ประชาชน. ชาวประเทศ
ทฺรวฺย สิน ทรัพย์สิน วัตถุทั้งที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง

๒. ประกอบข้างหลังคำไทย ตัวอย่างเช่น
บาลี -สันสกฤต คำไทย ไทยใช้ ความหมาย
ซาก ศว ซากศพ ร่างของคนที่ตายแล้ว
วาย ชนฺมนฺ วายชนม์ ตาย
๘.นำมาใช้เป็นคำราชาศัพท์ : (เฉพาะที่ใช้แก่พระราชาและเจ้านาย) ภาษาไทยจำนวนมากเป็นคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต และ นิยมใช้คำ “พระ” นำหน้าคำเหล่านั้น เช่น
บาลี -สันสกฤต ราชาศัพท์ ความหมาย
เกศ พระเกศา ผม
นลาฏ พระนลาฏ หน้าผาก
นาสิกา พระนาสิก จมูก

๙.นำมาใช้ในการตั้งชื่อและนามสกุล ราชทินนาม สถานที่ และสิ่งของต่างๆ เช่น
๙.๑ ชื่อและนามสกุล : คนไทยเป็นจำนวนมากนิยมชมชอบในการตั้งชื่อและนามสกุล บุตรหลานของตน เพื่อให้เป็นมงคลนาม คำศัพท์ที่นำมาตั้งชื่อโดยมากได้มาจากคำภาษาบาลี-สันสกฤต ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่มีความไพเราะในด้านเสียงและมีความหมายลึกซึ้งอีกด้วย เช่น กานดา ครรชิต จิรศักดิ์ สุชีพ ฉันทนา กิตติศักดิ์ ประภา เปรม วีระ สวัสดิ์ สฤษฎิ์ จารุวรรณ ยุพารัตน์ ธัญญารัตน์ เป็นต้น 
นอกจากนี้ อาจจะใช้คำบาลีสันสกฤต ประสมกับคำไทยเพื่อใช้ในการตั้งชื่อบุคคลก็ได้ เช่น เกรียงศักดิ์ ทรงวุฒิ ทรงศักดิ์ ศรีเมือง ฯลฯ สำหรับ นามสกุลนั้น ถ้าเป็นคนจีน (หรือคนต่างด้าวอื่นๆ) เมื่อเปลี่ยนสัญชาติมาเป็นคนไทย มักจะเปลี่ยนจาก “แซ่” มาเป็นนามสกุลไทยๆ โดยใช้คำบาลีสันสกฤตผูกประสมกันขึ้นให้มีความหมายตรงกัน หรือคล้ายกันกับแซ่บ้าง เช่น
แซ่เบ๊ เปลี่ยนเป็น อัศวฤทธิกุล หรือ อาชาเจริญ
แซ่ตัน เปลี่ยนเป็น ตัณฑยาพิสุทธิ์
แซ่เหล่า, แซ่เล้า เปลี่ยนเป็น เลาหกุล
๙.๒ ราชทินนาม : เป็นบรรดาศักดิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานแก่ผู้มีความ ชอบ หรือดำรงตำแหน่งในทางราชการ คำศัพท์ที่ประกอบขึ้นใช้เป็น “ราชทินนาม” นี้ มักจะใช้คำภาษาบาลี-สันสกฤตเป็นส่วนมาก จะมีคำไทยปนอยู่บ้างส่วนน้อย เช่น อนุมานราชธน- โสภณเจติยาภิบาล ปริยัติธรรมธาดา เทพมงคลเมธี เสฐียรโกเศศ เป็นต้น
๙.๓ สถานที่ : คนไทยมักนำคำในภาษาบาลีสันสกฤตมาตั้งชื่อสถานบันการศึกษา หรือหน่วยงานต่างๆ เพื่อเช่นสิริมงคล เช่น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นต้น 
๙.๑๐ นำมาใช้แทนคำไทยที่ถือกันว่าไม่สุภาพหรือเป็นคำหยาบ : เนื่องจากคำไทยบางคำถือกันว่าไม่สุภาพและเป็นคำหยาบ ซึ่งไม่อาจจะพูดออกมาต่อหน้าสาธารณชนได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยคำศัพท์ที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต ซึ่งมีความหมายตรงกันกับคำไทยเหล่านั้น มาใช้แทน โดยถือกันว่าเป็นคำสุภาพ เช่น
บาลี -สันสกฤต ไทยใช้ ความหมาย
องฺคชาต องคชาต อวัยวะลับของชาย
อณฺฑ อัณฑะ ส่วนหนึ่งของอวัยวะลับชาย,ไข่
คุยฺห+ฐาน คุยหฐาน อวัยวะที่ลับ (ราชาศัพท์)
ปฺรเวณิ ประเวณี ร่วมเพศ,ร่วมกัน
บาลี -สันสกฤต ไทยใช้ ความหมาย
สิงฺค ลึงค์ อวัยวะเพศของชาย
เมถุน เสพเมถุน ร่วมเพศ, สมสู่ (ร่วมรัก)


สรุปท้ายบทบทที่ ๑
ภาษาบาลี ในสมัยโบราณ เรียกว่า "ภาษามคธ" หมายถึง ภาษาของชาวแคว้นมคธที่พระพุทธเจ้าทรงใช้เป็นสื่อในการประกาศพระพุทธศาสนา ภาษาบาลีแต่เดิมเรียกว่า “ภาษามคธ” ที่พวกอารยัน (บาลีว่า อริยกะ) เข้ามาตั้งถิ่นฐานและมีอำนาจอยู่ในชมพูทวีปเป็นเวลานานกว่า ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว วัฒนธรรมของพวกอารยันก็เข้าไปผสมกับวัฒนธรรมของชาวพื้นเมืองเดิม โดยวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติของภาษา เมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงอุบัติขึ้น พระองค์ทรงใช้ภาษามาคธี (ภาษามคธ) ในการประกาศพระพุทธศาสนา ต่อมาพระสาวกได้รวบรวมไว้เป็นหมวดหมู่เรียกว่า “พระไตรปิฎก” มี ๓ หมวดคือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก (รวม๘,๔๐๐๐ พระธรรมธันธ์) ล้วนแต่บันทึกไว้เป็นภาษามคธทั้งสิ้น และภาษามคธนี้เองที่เรียกกันว่า "ภาษาบาลี" ในปัจจุบันนี้
ภาษาบาลี แต่เดิมหมายถึง "พระไตรปิฎก" ซึ่งเป็นคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าใช้ภาษามคธเป็นสื่อความ หมายในการตรัสสอน เพราะพระองค์ต้องการให้คนจำนวนมากเข้าใจคำสอนของพระองค์จึงได้ตรัสด้วยภาษาม คธเป็นสื่อในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาและปรับปรุงให้ดีขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น